ภาษาอีสาน: อี่โตน, เหลือโตน; เก็บตกเรื่อง "เสี่ยว"

เมื่อวานไปเดินงานไหมวันสุดท้าย พ่อค้าแม่ค้าตามซุ้มต่างๆ หลายซุ้มเริ่มเลหลัง เพราะไม่อยากเหลือของกลับบ้าน โดยเฉพาะสินค้าที่มีอายุไม่มากอย่างพวกของกิน แต่บางเจ้าก็ไม่ได้อยากเลหลัง เพราะสินค้ายังเก็บได้นาน เอาไปขายงานอื่นต่อได้ แต่คนซื้อก็ยังพยายามต่อราคา ด้วยเห็นเป็นวันสุดท้าย จนมีเสียงตะโกนเล็ดลอดออกมาจากแม่ค้า

"โอ้ย.. ซิให้หลูด(ลด)อีกปานใด๋ เหลือโตน(สงสาร)แม่ค้าแหน่ ให้กำไรกันจักหน่อยเถาะ.."

คำว่า "เหลือโตน" หรือ "อี่โตน" ในภาษาอีสาน แปลว่า "สงสาร" หรือ "เห็นใจ" อย่างถ้าไปเห็นเด็กตัวเล็กๆ ตกระกำลำบาก แล้วรู้สึกสงสาร จะใช้คำว่า "อี่โตน" หรือ "เหลือโตน" ก็ได้ แต่ส่วนใหญ่จะได้ยินคำว่า "อี่โตน" บ่อยกว่า

เก็บตกงานไหมอีกสักหน่อย.. ข้อมูลจากคุ้มศิลปะวัฒนธรรมเกี่ยวกับประเพณีผูกเสี่ยว ทำให้ได้แง่คิด ว่าการเปรียบเทียบคำว่า "เสี่ยว" กับวัฒนธรรมอื่น อาจทำให้เข้าใจความหมายของคำนี้ได้ดีขึ้น เขายกตัวอย่างของ "เสี่ยว" ในประวัติศาสตร์ เช่น เมื่อสามกษัตริย์ คือพญามังราย พ่อขุนรามคำแหง และพญางำเมือง กรีดเลือดสาบานกันเป็นสหาย อันนำไปสู่การสร้างเมืองเชียงใหม่ การสาบานเป็นสหายครั้งนั้น ถือได้ว่าเป็นความหมายที่เหมือนกับการ "ผูกเสี่ยว" ของอีสาน หรือในครั้งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเชิญผู้ที่เกิดวันเวลาเดียวกับพระองค์ มาร่วมสังสรรค์และดื่มเลือดสาบานเป็น "พระสหชาติ" นั่นก็เป็นความหมายของ "เสี่ยว" ได้เช่นกัน

อ่านแล้วนึกเหมือนผมไหม? ผมนึกไปถึงการสาบานในสวนท้อของ เล่าปี่ กวนอู เตียวหุย เป็นพี่น้องกัน ขอร่วมเป็นร่วมตายกันจนกว่าชีวิตจะหาไม่ นั่นก็คือความหมายของ "เสี่ยว" เหมือนกัน แล้วก็เลยรวมไปถึงการกราบไหว้ฟ้าดิน สาบานเป็นพี่น้องกันในหนังจีนทั่วๆ ไปด้วย

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ภาษาใต้ : คำสรรพนามที่รู้จัก..

รวมมิตร: สัตว์จตุบาท

ภาษาใต้: หมัน...