ภาษากลาง: การุญ, การุณย์, กรุณา

ขออนุญาตอ้างถึงการสุ่มตัวอย่างอย่างไม่ตั้งใจในประสบการณ์ตรง (คือจากสถิติการสะกดนามสกุลผมเองโดยบุคคลต่างๆ) พบว่า เกิน 80% ของกลุ่มตัวอย่าง สะกดคำว่า "การุญ" หรือ "การุณย์" ผิด โดยมักสะกดเป็น "การุณ" คาดว่าน่าจะสับสนกับคำว่า "กรุณา"

คำว่า "การุญ" เป็นคำบาลี มีความหมายตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ ว่า

การุญ, การุณย์ [การุน] น. ความกรุณา. (ป., ส.).

ส่วนคำว่า "กรุณา" นั้น ก็หมายถึงความปรารถนาให้ผู้อื่นพ้นทุกข์ เป็นหนึ่งในพรหมวิหาร ๔ นั่นแล ซึ่งเราจะคุ้นกับคำนี้ในชีวิตประจำวันมากกว่า ในขณะที่ "การุญ" หรือ "การุณย์" จะเป็นภาษาเขียน ใช้ในบทกวีเสียเยอะ แต่อันที่จริง ทั้งสามคำก็มีความหมายเหมือนกัน เพียงแต่เป็นการผันคำแบบต่างๆ ในภาษาบาลีนั่นเอง (กรุณา + ณฺย ปัจจัยในภาวตัทธิต แล้วแปลงเป็น การุญฺญํ แปลว่า ความกรุณา --รายละเอียดอ่านในหนังสือบาลีไวยากรณ์ครับ ผมก็ไม่รู้เรื่องมากนัก)

"...หากคุณการุณย์ ก็ส่งรูปคุณให้ดูแทนหน้า ช่วยเซ็นรูปไป ว่ามอบด้วยใจสาวโรงทอผ้า..."

อย่าลืม "ย์" นะครับ หรือไม่ก็ใช้ ญ หญิง สะกด โดยไม่ต้องใส่การันต์ เป็น "การุญ" ไปเลย

ความคิดเห็น

Thep กล่าวว่า
ปล. แต่สำหรับนามสกุลผม ใช้รูป ญ สะกด นะขอรับ :-)
Thep กล่าวว่า
เพิ่มเติมว่า "การุญ" เป็นการเขียนตามแบบบาลี ส่วน "การุณย์" เป็นการเขียนตามแบบสันสกฤต

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ภาษาใต้ : คำสรรพนามที่รู้จัก..

รวมมิตร: สัตว์จตุบาท

ภาษาใต้: หมัน...