ภาษากลาง: วสันต์

น่าแปลกเหมือนกัน ที่คำว่า "วสันต์" มีการใช้กันอย่างกว้างขวางในวงการวรรณกรรม ในความหมายว่า "ฤดูฝน" ทั้งที่ความหมายที่แท้จริงนั้น หมายถึง "ฤดูใบไม้ผลิ"

วสันต์ น. ฤดูใบไม้ผลิในคำว่า ฤดูวสันต์, วสันตฤดู ก็ว่า.

ด้วยความเอียงของแกนโลกประมาณ ๓๓.๕ องศาจากแนวตั้งฉากกับระนาบการโคจรรอบดวงอาทิตย์ ทำให้โลกมีสภาพเหมือนไก่ย่างที่หมุนกลิ้งไปรอบๆ กองไฟคือดวงอาทิตย์ เหมือนไก่ย่างเวียนหัวตามร้านข้างทาง แต่โลกจะเอียงแกนไปด้านหนึ่งด้วย ทำให้ในตำแหน่งหนึ่ง ไก่ย่างชิ้นนี้หันด้านหัวเข้าหากองไฟ ในขณะที่ในอีกตำแหน่งหนึ่ง หันด้านก้นเข้าหากองไฟ ทำให้โลกร้อนหัวเย็นก้นบ้าง สลับกับร้อนก้นเย็นหัวบ้าง เป็นคาบๆ ไป เกิดเป็นฤดูกาลในบริเวณต่างๆ ของโลก

ตำแหน่งที่โลกหันหัว (ขั้วโลกเหนือ) เข้าหาดวงอาทิตย์ตรงที่สุดนั้น ซีกโลกเหนือจะเป็นฤดูร้อนเต็มที่ และมีเวลากลางวันยาวนานที่สุด (ในบริเวณเหนือละติจูด ๖๖.๕ องศาเหนือขึ้นไป พระอาทิตย์จะไม่ตกดิน) เรียกว่า "ครีษมายัน" [คฺรีด-สะ-มา-ยัน] (Summer Solstice) แปลว่า การมาถึงของฤดูร้อน ตรงกับประมาณวันที่ ๒๒ มิถุนายน และเรียกฤดูนี้ว่า "คิมหันต์" หรือ ฤดูร้อน ในระหว่างนี้ ซีกโลกใต้จะเป็นฤดูหนาว

ตำแหน่งตรงข้ามกับครีษมายัน คือเมื่อโลกหันขั้วโลกใต้เข้าหาดวงอาทิตย์มากที่สุด ทำให้ซีกโลกเหนือมีเวลากลางวันสั้นที่สุด เรียกว่า "เหมายัน" [เห-มา-ยัน] (Winter Solstice) ตรงกับประมาณวันที่ ๒๒ ธันวาคม เรียกฤดูนี้ว่า "เหมันต์" หรือ ฤดูหนาว ซึ่งในซีกโลกใต้จะเป็นฤดูร้อน ตรงข้ามกัน

ตำแหน่งอีกสองตำแหน่งที่อยู่ตรงกลางระหว่างครีษมายันและเหมายันนี้ เป็นจุดที่อากาศได้สมดุล และเป็นจุดที่กลางวันกลางคืนยาวเท่ากัน มีศัพท์ทางดาราศาสตร์เรียกว่า จุดราตรีเสมอภาค หรือ วิษุวัต (equinox) จุดที่อยู่ตรงกลางจากฤดูหนาวไปร้อนนั้น เรียกว่า "วสันตวิษุวัต" (Vernal Equinox) ตรงกับประมาณวันที่ ๒๑ มีนาคม ช่วงนี้ ต้นไม้ที่แห้งโกร๋นผ่านความหนาวเย็นในฤดูหนาวมา จะเริ่มผลิใบ จึงเรียกฤดูนี้ว่า ฤดูใบไม้ผลิ หรือ "ฤดูวสันต์"

ส่วนจุดราตรีเสมอภาคอีกจุดหนึ่งที่อยู่ตรงกลางจากฤดูร้อนไปหนาวนั้น เรียกว่า "ศารทวิษุวัต" (Autumnal Equinox) ตรงกับประมาณวันที่ ๒๔ กันยายน ต้นไม้ต่างๆ เริ่มสลัดใบเพื่อเตรียมเข้าสู่ฤดูหนาว จึงเรียกว่า ฤดูใบไม้ร่วง หรือ "ฤดูศารท"

แล้วบังเอิญว่าประเทศไทยตั้งอยู่ในเขตมรสุม ทำให้ฝนมีลักษณะเด่น กลบฤดูใบไม้ร่วงหรือผลิไป กลายเป็นสามฤดู คือ ร้อน ฝน และหนาว (ไม่นับในเมืองหลวงที่มีแต่ฤดูร้อนน้อย ร้อนมาก และร้อนบรรลัย เหอะๆ) ซึ่งหากนับเทียบช่วงเวลาแล้ว ฤดูฝนของเราดูจะไปตรงกับฤดูศารทหรือใบไม้ร่วงของโลก ยิ่งทำให้ประหลาดที่เอาฤดูวสันต์มาเรียกช่วงนี้

แต่กวีย่อมมีทัศนะที่โรแมนติกกว่า เป็นไปได้ว่าอาจจะมองต้นไม้ที่ได้น้ำ และผลิดอกออกใบเขียวชะอุ่มนี้ ว่าเหมือนกับฤดูใบไม้ผลิตามที่บรรยายในวรรณกรรมอินเดีย ก็เลยเอาคำว่า "วสันต์" มาบรรยายบรรยากาศช่วงฤดูฝนเสียเลย ก็เป็นไปได้นะ แต่ถึงกับเอามาใช้ว่า "ยังไม่ทันวสันต์รินจะสิ้นสาย" เนี่ย ดูจะสื่อชัดเจนว่าหมายถึงฝนจริงๆ ไม่ใช่การเปรียบเปรย อืม ก็น่าคิด

อย่างไรก็ดี คำในภาษาบาลี-สันสกฤตเดิมที่ใช้เรียกฤดูฝนก็มี คือคำว่า "พรรษา" (ส. วรฺษ; ป. วสฺส) หรือ "พรรษฤดู" ดังจะมีพิธี "เข้าพรรษา" เป็นเวลาสามเดือนมาตั้งแต่พุทธกาล เพื่อพักการประกาศศาสนาในฤดูกสิกรรม

ความคิดเห็น

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า
คําว่าสุปริยะนิช

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ภาษาใต้ : คำสรรพนามที่รู้จัก..

รวมมิตร: สัตว์จตุบาท

ภาษาใต้: หมัน...