บทความ

กำลังแสดงโพสต์จาก เมษายน, 2548

ภาษาอีสาน: เซา

"ว่าแม่นซิเซาแล้วแหม" (นึกว่าจะเลิกซะแล้ว) กับ lang4fun เห็นเจ้าของเว็บเงียบหายไปนาน (ประกอบกับผมเองติดงานโน่นนี่ ไม่ได้มาเขียนเสียนาน) นึกว่าจะ "เซา" ซะแล้ว เซา ก. หยุด, เลิก(ทำ). ในภาษากลาง คำว่า "เซา" ถูกนำไปใช้ในคำว่า "ซบเซา" คือเงียบเหงา ไม่เบิกบาน ไม่คึกคัก ซึ่งถ้าแยกคำออกมา คำว่า "ซบ" ก็หมายถึง ฟุบหน้าลงไป ส่วน "เซา" ก็หมายถึง หยุดชะงัก, เพลาลง หรือ ง่วงเหงา นั่นเอง รวมความก็เลยกลายเป็น ไม่ตื่นตัว เซื่องซึม เงียบเหงา ส่วนในคำอีสาน "เซา" ใช้เป็นคำโดดโดยปกติ เป็นคำกริยา หมายถึง หยุดหรือเลิก เช่น "เซาเถาะ" หมายถึง "เลิกเหอะ" หรือถ้าพูดว่า "เซาเฮ็ดแล้วล่ะ" ก็หมายถึง "เลิกทำแล้วล่ะ" แต่คงบ่ "เซา" เขียน lang4fun ดอกเด้อ :-)

ภาษาใต้: ขี้คร้าน

เหมาะกับ Blog master ภาษาใต้จริงๆ ครับคำนี้ คำว่า "ขี้คร้าน" แปลตรงๆ ก็คือ "ขี้เกียจ" นั้นเอง คำนี้ผมเองก็ได้ยินคนภาคอื่นพูดบ้างเหมือนกัน ที่ได้ยินบ่อยๆ ก็ "คอยดูเถอะขี้คร้านจะมาคุกเข่าอ้อนวอน" ส่วนในภาษาใต้จะมีเพลงกล่อมเด็ก จำได้ลางว่า "ลูกสาวขี้คร้าน นอนให้แม่ปลุก ฉวยได้ด้ามขวาน แยงวานดังพลุก นอนให้แม่ปลุก ลูกสาวขี้คร้าน...." วาน หมายถึง ก้นครับ

ภาษาใต้: หล๊อบ...

หล๊อบ: (ก) กลับ (ใช้กับการเดินทาง) ตัวอย่าง: สงกรานต์ นี้ เติน อิ หล๊อบ บ้าน ม้าย อ่านว่า: ส้งกราน นี้ เติน อิ หล๊อบ บ้าน ม้าย คำแปล: สงกรานต์นี้คุณจะกลับบ้านรึป่าว ผมไม่แน่ใจว่าเขียนถูกรึป่าวกับคำว่า "หล๊อบ" หรืออาจจะเป็น "หล้บ" อ้างอิงภาษาจาก ต.คลองพน อ.คลองท่อม จ.กระบี่