ภาษากลาง: จุติ
คำว่า "จุติ" นี้ ดูจะใช้กันสับสน ที่แน่ๆ คือเป็นคำที่ใช้แก่เทวดาเมื่อสิ้นบุญจากสวรรค์ ลงมาเกิดบนโลกมนุษย์ คำว่า "จุติ" นี้ จึงถูกแปลความหมายว่า "เกิด" บ่อยๆ แต่พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕ ให้ความหมายไว้ว่า:
จุติ ก. ตาย (มักใช้แก่เทวดา). (ป.; ส. จฺยุติ).
กล่าวคือ ตามคติทางธรรมนั้น การเปลี่ยนภพมีสองขั้นตอนหลักๆ (ไม่ขอพูดถึงขั้นตอนย่อยๆ เดี๋ยวจะยาว) คือ จุติ ซึ่งตรงกับการ "ตาย" ในความหมายปกติ กับ ปฏิสนธิ ซึ่งหมายถึงการ "เกิด" (สองคำนี้ นักสนทนาธรรมใน TLWG คงจะได้ยินกันจนชิน) ดังนั้น การพูดว่า "เทวดาลงมาจุติ" จึงฟังดูขัดๆ แต่ถ้าพูดว่า "เทวดาจุติลงมา" แบบนี้ฟังได้ใจความ
คำว่า "จุติ" มักใช้กับเทวดา แต่วรรณคดีบางเรื่องก็นำมาใช้กับมนุษย์ด้วย เช่น ในมหาชาติภาคพายัพ ฉบับสร้อยสังกร อานิสงส์การสร้าง มีร่ายตอนหนึ่งว่า:
ปุคคละผู้ใดหนา ได้ฟังธรรมเทศน์ ชื่อมหาเวสสันดร คันผู้นั้นจุติจรตายจาก ได้พลัดพรากเมืองคน ก็จักได้เอาตนเมือเกิด ห้องฟ้าเลิศทิพพอาวาสา
อย่างไรก็ดี หากพูดถึงความหมายบาลีจริงๆ แล้ว คำว่า "จุติ" นี้ แปลว่า "เคลื่อน" และพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ ได้ให้คำจำกัดความของ "จุติ" ใหม่ ว่า:
จุติ ก. เคลื่อน, เปลี่ยนสภาพจากกำเนิดหนึ่ง ไปเป็นอีกกำเนิดหนึ่ง, (มักใช้แก่เทวดา). (ป.; ส. จฺยุติ).
กล่าวคือ ย้อนกลับไปหารากศัพท์ โดยมาเน้นที่ความเปลี่ยนแปลง ซึ่งแม้จะในความหมายว่า "ตาย" หรือ "เคลื่อน" ก็เป็นมโนทัศน์ของสิ่งที่เกิดขึ้นก่อนขั้นที่เรียกว่า "เกิด" แน่ๆ
อ้างอิง:
- พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕
- พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒
- ประคอง นิมมานเหมินท์. มองภาษา. กรุงเทพฯ : แม่คำผาง, ๒๕๔๗.
ความคิดเห็น