ภาษากลาง: วสันต์
น่าแปลกเหมือนกัน ที่คำว่า "วสันต์" มีการใช้กันอย่างกว้างขวางในวงการวรรณกรรม ในความหมายว่า "ฤดูฝน" ทั้งที่ความหมายที่แท้จริงนั้น หมายถึง "ฤดูใบไม้ผลิ" วสันต์ น. ฤดูใบไม้ผลิในคำว่า ฤดูวสันต์, วสันตฤดู ก็ว่า. ด้วยความเอียงของแกนโลกประมาณ ๓๓.๕ องศาจากแนวตั้งฉากกับระนาบการโคจรรอบดวงอาทิตย์ ทำให้โลกมีสภาพเหมือนไก่ย่างที่หมุนกลิ้งไปรอบๆ กองไฟคือดวงอาทิตย์ เหมือนไก่ย่างเวียนหัวตามร้านข้างทาง แต่โลกจะเอียงแกนไปด้านหนึ่งด้วย ทำให้ในตำแหน่งหนึ่ง ไก่ย่างชิ้นนี้หันด้านหัวเข้าหากองไฟ ในขณะที่ในอีกตำแหน่งหนึ่ง หันด้านก้นเข้าหากองไฟ ทำให้โลกร้อนหัวเย็นก้นบ้าง สลับกับร้อนก้นเย็นหัวบ้าง เป็นคาบๆ ไป เกิดเป็นฤดูกาลในบริเวณต่างๆ ของโลก ตำแหน่งที่โลกหันหัว (ขั้วโลกเหนือ) เข้าหาดวงอาทิตย์ตรงที่สุดนั้น ซีกโลกเหนือจะเป็นฤดูร้อนเต็มที่ และมีเวลากลางวันยาวนานที่สุด (ในบริเวณเหนือละติจูด ๖๖.๕ องศาเหนือขึ้นไป พระอาทิตย์จะไม่ตกดิน) เรียกว่า "ครีษมายัน" [คฺรีด-สะ-มา-ยัน] (Summer Solstice) แปลว่า การมาถึงของฤดูร้อน ตรงกับประมาณวันที่ ๒๒ มิถุนายน และเรียกฤดูนี้ว่า "คิ...