ภาษากลาง: สุรา, เมรัย, มัชชะ

สองครั้งแล้ว ต่างคน ต่างวาระ ที่ได้ยินการตีความศีลข้อห้าแบบแปลกๆ โดยพยายามอ้างบาลีด้วย ในทำนองว่า พุทธบริษัทส่วนใหญ่เข้าใจผิดว่า ศีลข้อห้านั้นให้งดดื่มเหล้า ทั้งที่จริงให้ดื่มแต่พอดี แล้วก็ยกวลี "มชฺชปมา" ใน "สุราเมรยมชฺชปมาทฏฺฐานา.." มาประกอบ ว่าหมายถึง "มัชฌิมา" คือปานกลาง ซึ่งเป็นการลากคำเข้าความ และเห็นว่าเรื่องนี้ มีประเด็นที่น่าสนใจทางภาษา เลยยกมาเขียนใน lang4fun เสียหน่อย

เริ่มจากแยกคำบาลีเสียก่อน "สุราเมรยมชฺชปมาทฏฺฐานา" ประกอบด้วยคำว่า "สุรา", "เมรัย", "มัชชะ", "ปมาท" และ "ฐานา" ซึ่งสามคำแรก มีความหมายถึงเครื่องดองของเมาชนิดต่างๆ ดังนี้

สุรา น. เหล้า, น้ำเมาที่ได้จากการกลั่น, (มักใช้เป็นทางการ), เช่น ร้านนี้ขายแต่สุราต่างประเทศ. (ป., ส.).

เมรัย น. น้ำเมาที่เกิดจากการหมักหรือแช่, น้ำเมาที่ไม่ได้กลั่น. (ป.).

มัชชะ น. น้ำเมา, ของเมา. (ป. มชฺช).

โดยมีคำว่า มัชวิรัติ ที่แปลว่า การงดเว้นของมึนเมา ซึ่งคงจะตรงกับภาษาอังกฤษว่า teetotal ด้วย

กล่าวคือ "สุรา" หมายถึงน้ำเมาที่กลั่นแล้ว ได้แก่พวกเหล้าวิสกี้ บรั่นดี เป็นต้น ส่วน "เมรัย" หมายถึงน้ำเมาที่ยังไม่กลั่น เช่น ไวน์ เบียร์ กระแช่ เป็นต้น และคำที่เป็นปัญหา คือ "มัชชะ" นั้น ก็หมายถึงของมึนเมาโดยรวม ซึ่งนอกจากสุราและเมรัย ก็ยังรวมถึงยาเสพย์ติดชนิดอื่นๆ ที่ทำให้มึนเมา เช่น ทินเนอร์ กัญชา ฝิ่น เฮโรอีน ยาบ้า ทั้งหลายแหล่ด้วย

ส่วน "ปมาทฏฺฐานา" ก็เป็นการสนธิคำ "ปมาท" (ประมาท) กับ "ฐานา" (ที่ตั้ง) รวมความว่า "อันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท"

"สุราเมรยมชฺชปมาทฏฺฐานา" จึงแปลว่า "ของมึนเมาอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท มีสุราและเมรัยเป็นต้น" และเมื่อรวมทั้งบท จึงมีความหมายที่ขอยกบทสวดมนต์แปลมาอ้างอิง:

สุราเมรยมชฺชปมาทฏฺฐานา เวรมณี

เจตนาเป็นเครื่องเว้นจากการเสพของเมา มีสุราและเมรัยเป็นต้น อันเป็นที่ตั้งของความประมาท

ส่วน "มชฺฌ" ที่แปลว่า "ท่ามกลาง" นั้น สะกดด้วย ช และ ฌ ไม่ใช่ ช ซ้อนกันสองตัว ตรงกับภาษาสันสกฤตว่า "มธฺย" ส่วน "มัชฌิม" ก็เป็นคำวิเศษณ์ หมายถึง "ปานกลาง" ตรงกับคำสันสกฤตว่า "มัธยม" นั่นเอง

งดเหล้าเข้าพรรษากันดีกว่านะครับ อย่าพยายามเลี่ยงบาลีเลย ^_^

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ภาษาใต้ : คำสรรพนามที่รู้จัก..

รวมมิตร: สัตว์จตุบาท

ภาษาใต้: หมัน...