ภาษาอีสาน: เสี่ยว, หมู่, ซุม

อีกสักคำที่คนภาคกลางเอามาใช้ในความหมายที่เปลี่ยนไป คือคำว่า "เสี่ยว"

เสี่ยว น. เพื่อนรัก, เกลอ.

ความจริงแล้ว "เสี่ยว" ในภาษาอีสาน มีความหมายสองระดับ ถ้าเป็น "เสี่ยว" ตามประเพณีพื้นบ้านนั้น คนที่เป็นเพื่อนรักกันขนาดตายแทนกันได้ จะเข้าพิธี "ผูกเสี่ยว" คือผูกข้อมือ บายศรีสู่ขวัญ ตกลงเป็น "เสี่ยว" กัน คือใครมีเรื่องเดือดร้อน ก็จะช่วยเหลือกัน ลูกของตัวก็อาจจะยก "เสี่ยว" เป็นพ่อทูนหัว/แม่ทูนหัว อะไรประมาณนั้น แต่ "เสี่ยว" ก็มีความหมายในระดับทั่วไปด้วย คือบางทีคนที่เป็นเพื่อนสนิทกันโดยไม่ได้เข้าพิธีผูกเสี่ยว ก็อาจจะเรียกเพื่อนว่า "เสี่ยว" ก็ได้ ซึ่งจะมีความสนิทสนมกว่าอีกคำหนึ่งที่หมายถึงเพื่อนฝูงโดยทั่วไป:

หมู่ น. เพื่อน; กลุ่ม, พวก.

คำว่า "หมู่" ความหมายแรก ใช้เหมือนคำว่า "เพื่อน" ตามปกติในภาษาไทยกลางทุกประการ "เฮาเป็นหมู่กัน" ก็หมายถึง "เราเป็นเพื่อนกัน" ถ้าไม่กล้าไปที่ไหนคนเดียว ก็อาจจะชวนคนอื่น "ย่างไปเป็นหมู่" คือ "เดินไปเป็นเพื่อน" ก็ได้

"หมู่" ในอีกความหมายหนึ่ง จะคล้ายกับความหมายในภาษาไทยกลาง คือใช้เรียกกลุ่มคนที่อยู่รวมกัน เช่น "ซุมหมู่นี้" หมายถึง "ชุมกลุ่มนี้" หรือ "คนพวกนี้" นั่นเอง

ว่าแล้วก็เลยบันทึกไว้อีกคำ:

ซุม น. พวก.

ถอดอักษรเป็นไทยกลางก็คือ "ชุม" ใช้เรียกกลุ่มคนเหมือนคำว่า "พวก(นั้น,นี้)" เช่น "ซุมขี้กะตืด" เป็นคำด่าว่า "ไอ้พวกขี้เหนียวทั้งหลาย" อะไรทำนองนี้

กลับไปที่ "เสี่ยว" อีกนิด ประเพณีผูกเสี่ยวที่ขอนแก่น จัดเป็นส่วนหนึ่งของงานประจำปีที่เรียกรวมกันว่า "เทศกาลไหม ประเพณีผูกเสี่ยว และงานกาชาด" จัดในช่วงปลายเดือน พ.ย. ต่อต้น ธ.ค. (จะต้องรวมวันที่ 5 ธ.ค. เสมอ ซึ่งคืนนั้นจะมีการจุดพลุถวายพระพรเป็นที่สวยงาม) สำหรับปีนี้ จัดในช่วง 29 พ.ย. - 10 ธ.ค. ครับผม

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ภาษาใต้ : คำสรรพนามที่รู้จัก..

รวมมิตร: สัตว์จตุบาท

ภาษาใต้: หมัน...