ภาษากลาง: ฝรั่ง

คนไทยเรียกคนผิวขาวว่า "ฝรั่ง" มานาน ดังจะมีสำนวนว่า "ฝรั่งมังค่า" หรือ "ฝรั่งตาน้ำข้าว" คำนี้ เคยมีเพื่อนฝรั่งสันนิษฐานว่า ชะรอยคนไทยจะรู้จักคนฝรั่งเศสเป็นชาติแรก โดยเพี้ยนคำว่า "ฟรองซ์" เป็น "ฝรั่ง" แต่มันก็ขัดกับข้อมูลที่เรารู้กันมา ว่าฝรั่งชาติแรกที่เข้ามาติดต่อกับสยามคือโปรตุเกส ส่วนฝรั่งเศสเพิ่งจะเข้ามาในยุคท้ายๆ ของอยุธยา คือในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช คนไทยรู้จักคนผิวขาวมานานกว่านั้น แต่จะว่าไป อิทธิพลฝรั่งเศสในสมัยพระนารายณ์ ก็ชวนให้คล้อยตาม ว่าถึงแม้จะไม่ใช่ชาติแรก แต่ก็อาจมีอิทธิพลมากพอก็เป็นได้ ก็เลยเก็บความสงสัยอยู่เรื่อยมา

ก็พอดีมาเจอในหนังสือ อภิธานศัพท์คำไทยที่มีที่มาจากภาษาต่างประเทศ ของกรมศิลปากร (เล่มเดิมน่ะแหละ) บอกว่า คำว่า "ฝรั่ง" มีรากศัพท์มาจากภาษาอาหรับว่า "ฟารานจิ" (Faranji) และแผลงเป็นคำว่า "ฟิริงกิ" (Firingi) ในภาษาเปอร์เซีย (โห.. ผิดคาดไปไกลเหมือนกันแฮะ)

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ทรงให้ข้อสันนิษฐานไว้ว่า "ชาวยุโรปแรกเข้ามาอยู่ในประเทศสยาม มีแต่โปรตุเกสชาติเดียวตลอดเวลาเกือบร้อยปี แต่ไทยเรียกว่า 'ฝรั่ง' ตามอย่างพวกชาวอินเดีย ซึ่งเรียกชาวยุโรปไม่ว่าชาติใดๆ ว่า 'ฟรังคีส' ไทยจึงเรียกว่า 'ฝรั่ง' ทั้งยุโรปและอเมริกามาจนทุกวันนี้"

หนังสือบรรยายต่อไปว่า ฝรั่งโปรตุเกสเข้ามาในสยามตั้งแต่ พ.ศ. ๒๐๕๔ ในแผ่นดินสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ หลังจากที่อัลฟอนโซ ดัลบูเคอร์ก ตีเมืองมะละกา ซึ่งเคยเป็นเมืองขึ้นของไทยมาก่อนได้ จึงส่งทูตเข้ามาแจ้งและขอทำสัมพันธไมตรีด้วย จนทำสัญญาต่อกันในปี พ.ศ. ๒๐๕๙ และหลังจากนั้น ชาวโปรตุเกสก็เข้ามาพำนักอาศัยในสยามเพิ่มขึ้น ในศึกสงคราม เช่น ในสมัยสมเด็จพระไชยราชาธิราช ก็มี "ฝรั่งวิลาศโปรตุเกส" อยู่ในกองทัพ และทำความดีความชอบหลายครั้ง

ฝรั่งชาติที่สองที่เข้ามาในสยาม ก็คือสเปน ใน พ.ศ. ๒๑๔๑ สมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช หลังโปรตุเกสถึง ๘๒ ปี ซึ่งในตอนนั้นสเปนได้ผนวกโปรตุเกสเข้าเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักร จึงพยายามติดต่อประเทศที่โปรตุเกสเคยติดต่อด้วย

ถัดมาเป็นชาวฮอลันดา ซึ่งได้เข้ามาถวายปืนใหญ่แด่สมเด็จพระนเรศวรในปี ๒๑๔๗ และบริษัทอินเดียตะวันออกของฮอลันดาได้เข้ามาตั้งสถานีในสยามในสมัยสมเด็จพระเอกาทศรถ

ถัดมาคืออังกฤษ ซึ่งเข้ามาใน พ.ศ. ๒๑๕๕ สมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม เพื่อติดต่อการค้า แต่ก็ยังสู้อิทธิพลของฮอลันดาไม่ได้

ถัดมาจึงเป็นฝรั่งเศส เป็นชาติสุดท้ายที่เข้ามาในสมัยอยุธยา เข้ามาในปี ๒๒๐๕ สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช โดยฝรั่งเศสนั้น มีจุดประสงค์เพื่อเผยแผ่ศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาธอลิก ซึ่งปรากฏว่า สยามและฝรั่งเศสมีการแลกเปลี่ยนทูตกันหลายครั้ง ชาวฝรั่งเศสเองก็มีอิทธิพลในราชสำนักมากกว่าชาติอื่นๆ จนในรัชกาลต่อมา สมเด็จพระเพทราชาต้องทรงพยายามลดทอนอำนาจฝรั่งเศส ด้วยการขับไล่บาทหลวงฝรั่งเศสออกนอกประเทศ

ส่วนฝรั่งชาติอื่นๆ เข้ามาสยามในสมัยรัตนโกสินทร์

ฝรั่งโปรตุเกสที่เข้ามาช้านานนั้น ได้ทิ้งร่องรอยทางวัฒนธรรมไว้หลายอย่าง เช่น ขนมฝอยทอง หรือแม้แต่ผลไม้ที่เรียกว่า "ฝรั่ง" ที่มีถิ่นกำเนิดที่หมู่เกาะอินเดียตะวันตกจนถึงเปรูนั้น ก็มีผู้สันนิษฐานว่าจะเป็นชาวโปรตุเกสนำเข้ามาปลูก แล้วคนไทยก็เรียกชื่อผลไม้ของ "ฝรั่ง" ว่า "ฝรั่ง" ไปด้วย

ส่วนชื่อเรียก "ฝรั่ง" (ผลไม้) ในภาษาถิ่นต่างๆ นั้น ดูได้จาก รวมชื่อผลไม้ ใน Lang4Fun แห่งนี้

อ้างอิง:

  • ศุกลรัตน์ ธาราศักดิ์. "ฝรั่ง." อภิธานศัพท์ คำไทยที่มีต้นเค้าจากภาษาต่างประเทศ. กรมศิลปากร. พ.ศ. ๒๕๔๕.

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ภาษาใต้ : คำสรรพนามที่รู้จัก..

รวมมิตร: สัตว์จตุบาท

ภาษาใต้: หมัน...