ภาษาอีสาน: หน่วยเสียงในภาษาอีสาน

เพื่อความสนุกในการอ่าน คิดว่าน่าจะพูดถึงการออกเสียงสำเนียงอีสานนิดนึง ผมขออ้างอิงสำเนียงขอนแก่นละกัน ทราบมาว่าท้องถิ่นต่างๆ จะออกเสียงไม่เหมือนกัน โดยเฉพาะเสียงวรรณยุกต์

ตัวเขียนของภาษาอีสานดั้งเดิม จะใช้ อักษรไทน้อย ซึ่งมีรากเดียวกับอักษรลาวในปัจจุบัน และ อักษรธรรม ซึ่งน่าจะมีรากร่วมกับอักษรธรรมล้านนา (อักษรธรรม มักใช้ในคัมภีร์ทางศาสนา) แต่ปัจจุบันหาคนรู้อักษรทั้งสองแบบนี้ได้ยากแล้ว จะหาหลักฐานได้ก็แต่จากจารึกโบราณเท่านั้น ดังนั้น การศึกษาตัวสะกดภาษาอีสาน จึงน่าจะดูได้จากภาษาลาวปัจจุบันแทน แต่อักขรวิธีของลาวก็ได้ผ่านการปฏิวัติครั้งใหญ่มาแล้วครั้งหนึ่ง จึงอาจอ้างได้ไม่เต็มที่นัก (หากมีโอกาส คิดว่าจะศึกษาอักษรไทน้อยและอักษรธรรมดูบ้าง ข่าวดีคือ มีผู้พัฒนา ฟอนต์ อักษรไทน้อยและอักษรธรรมมาให้ใช้แล้ว มี โรงเรียน สอนด้วย) ในที่นี้จะพยายามเขียนโดยอ้างอิงอักขรวิธีลาวเท่าที่จะทำได้ โดยใช้อักษรไทยนี่แหละ

ในที่นี้ ขอเรียก "ภาษากรุงเทพฯ" แทนภาษาไทยกลาง เพราะท้องถิ่นอื่นในภาคกลางก็มีสำเนียงต่างจากกรุงเทพฯ

ภาษาอีสาน มีหน่วยเสียงพยัญชนะที่ต่างจากภาษากรุงเทพฯ ดังนี้

  • ญ ออกเสียงนาสิก ไม่ใช่เหมือน ย (ตรงนี้ถ้าพิจารณาจากพยัญชนะวรรค ความจริงแล้ว ง ญ ณ น ม ทั้งห้าตัวซึ่งอยู่ท้ายวรรค ถือเป็นพยัญชนะนาสิก คือเสียงออกจมูกทั้งหมด ทดสอบด้วยการอุดจมูกขณะออกเสียง จะมีลมดัน แต่เสียงนาสิกของ ญ ได้หายไปในภาษากรุงเทพฯ)
  • ไม่มีเสียง ฉ แต่จะออกเป็น ส แทน เช่น ฉีก เขียนและออกเสียงเป็น สีก
  • ไม่มีเสียง ช แต่จะออกเป็น ซ แทน เช่น ช้าง เขียนและออกเสียงเป็น ซ้าง (แต่ อักษรไทน้อย มีตัว ช)
  • ไม่มีเสียง ร แต่จะออกเป็น ฮ แทน เช่น เรือน เขียนและออกเสียงเป็น เฮือน หรือในบางคำ ออกเสียงเป็น ล แทน โดยเฉพาะคำที่ไม่ใช่คำอีสาน (แต่ อักษรไทน้อย มีตัว ร)
  • ไม่มีเสียงควบกล้ำ ร ล ว เช่น เกียน [= เกวียน] ยกเว้นบางคำ ที่เสียงควบกล้ำ ว ไปเปลี่ยนเสียงสระ เช่น กวาด [ออกเสียงว่า กวด], สวาย [= (เวลา)สาย ออกเสียงว่า สวย]

สระ บางสระจะเพี้ยนจากภาษากรุงเทพฯ ไว้ว่าทีหลัง

การผันวรรณยุกต์ อ.ซ่อนกลิ่น พิเศษสกลกิจ เคยบรรยายไว้ในชุมนุมภาษาไทยของคุรุสภา โดยใช้ภาษาอุบลฯ เป็นตัวอย่าง ว่ามีวรรณยุกต์ทั้งหมด 6 เสียง คือ

  • เสียงสามัญ ตรงหรือใกล้เคียงกับเสียงสามัญของภาษากรุงเทพฯ เช่น ในคำว่า กา จีน แดง บิน พ่อ แม่
  • เสียงเอก ตรงหรือใกล้เคียงกับเสียงเอกของภาษากรุงเทพฯ เช่น ในคำว่า ดอก แตก ปาก หมอก ไหม้ เข้า
  • เสียงโท ตรงกับเสียงโทของภาษากรุงเทพฯ เช่น ในคำว่า แจ้ง ต้น โลก ค้า น้า ม้า
  • เสียงตรี ใกล้กับเสียงตรีของภาษากรุงเทพฯ แต่เป็นตรีที่มีหางเป็นเสียงโท เช่น ในคำว่า คา งู มา
  • เสียงตรีเพี้ยน ไม่มีในภาษากรุงเทพฯ เป็นเสียงประสมของเสียงตรีกับสามัญ เช่น ในคำว่า ไก่ เต่า ข่า ใหม่
  • เสียงจัตวา ตรงกับเสียงจัตวาในภาษากรุงเทพฯ เช่น ในคำว่า ขา ผี เสา หัว กบ เบ็ด

ลองออกเสียงตามแล้วก็แปลกๆ โดยเฉพาะตรงเสียงตรีที่ว่าเหมือนเสียงตรีกรุงเทพฯ นั้น อาจจะใกล้เคียงกับสำเนียงภูเวียง ตรงนี้ต้องตรวจสอบกับคนอุบลฯ จริงๆ อีกที

แต่เท่าที่สังเกตสำเนียงขอนแก่น คำที่ยกตัวอย่างในเสียงสามัญนั้น แบ่งได้เป็นสองพวก พวกหนึ่งออกเสียงเอก อีกพวกหนึ่งออกเสียงตรีเพี้ยน น่าจะสรุปได้ว่า สำเนียงขอนแก่นมีวรรณยุกต์ 5 เสียง แต่รายละเอียดจะต่างกันเล็กน้อย:

  • เสียงเอก เหมือนเสียงเอกในภาษากรุงเทพฯ เช่น ในคำว่า กา จีน แดง บิน ดอก แตก ปาก หมอก ไหม้ เข้า
  • เสียงโทต่ำ คล้ายกับเสียงโทของภาษากรุงเทพฯ แต่เสียงต่ำกว่า (สูงกว่าเสียงสามัญของกรุงเทพฯ เล็กน้อย แล้วลงต่ำที่ท้ายพยางค์) เช่น ในคำว่า แจ้ง ต้น โลก ค้า น้า ม้า
  • เสียงโท ตรงกับเสียงโทของภาษากรุงเทพฯ เช่น ในคำว่า คา งู มา
  • เสียงสามัญสูง (ตรีเพี้ยน) ออกเสียงระดับเดียวเหมือนสามัญของภาษากรุงเทพฯ แต่เสียงสูงเหมือนตรี เช่น ในคำว่า ไก่ เต่า ข่า ใหม่ พ่อ แม่
  • เสียงจัตวา ตรงกับเสียงจัตวาในภาษากรุงเทพฯ เช่น ในคำว่า ขา ผี เสา หัว กบ เบ็ด

จากการสังเกต ผมเลยลองสรุปหลักการผันวรรณยุกต์ตามสำเนียงขอนแก่นว่าดังนี้ (มาจากการสังเกตนะครับ อาจยึดเป็นหลักตายตัวไม่ได้ เพราะในอักษรไทน้อยดั้งเดิมนั้น ไม่มีรูปวรรณยุกต์ ภาษาลาวเองก็เพิ่งมาเพิ่มวรรณยุกต์ภายหลัง):

รูปวรรณยุกต์ - เอก โท ตรี จัตวา
อักษรกลางคำเป็น เอก (กา) สามัญสูง (ไก่) โทต่ำ (แจ้ง) สามัญสูง (ป๊า)จัตวา (โก๋)
อักษรกลางคำตายสระเสียงยาว เอก (ดอก) - โทต่ำ (โจ้ก) สามัญสูง (โจ๊ก)จัตวา (-)
อักษรกลางคำตายสระเสียงสั้น จัตวา (กัด) - โทต่ำ (จั้ก) สามัญสูง (กั๊ก)จัตวา (-)
อักษรสูงคำเป็น จัตวา (ขา) สามัญสูง (ข่า) เอก (เข้า) - -
อักษรสูงคำตายสระเสียงยาว เอก (เขียด) - โทต่ำ (-) - -
อักษรสูงคำตายสระเสียงสั้น จัตวา (ขัด) - โทต่ำ (-) - -
อักษรต่ำคำเป็น โท (คา) เอก (ท่า), สามัญสูง (โง่) โทต่ำ (ค้า) - -
อักษรต่ำคำตายสระเสียงยาว โทต่ำ (คอก) - สามัญสูง (โค้ก) - -
อักษรต่ำคำตายสระเสียงสั้น สามัญสูง (คึด) โทต่ำ (ค่ะ) - - -

โพสต์ยาวอีกแล้ววันนี้ จริงๆ มีต่ออีก ไว้โอกาสหน้าละกัน

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ภาษาใต้ : คำสรรพนามที่รู้จัก..

รวมมิตร: สัตว์จตุบาท

ภาษาใต้: หมัน...