ภาษาอีสาน: ส๎วาย, แลง

ส๎วาย [สวย] น. เวลาสาย ว. ล่าช้า

คำว่า "ส๎วาย"* ออกเสียงตัวควบกล้ำ ว กับสระอาลดลงเป็นสระอัวว่า "สวย" แปลว่า "สาย" ใน "ตอนสาย" ในภาษาไทยกลาง (ไม่รวมคำว่า "สาย" ใน "สายไฟ" คำนั้นสะกดและออกเสียงว่า "สาย" เหมือนกันในภาษาอีสาน)

ดังนั้น ถ้าคุณผู้หญิงไปถึงงานเลี้ยงที่อีสานแล้วมีคนทักว่า "คือมาสวยแท้" อย่าเพิ่งรีบยิ้มตอบขอบคุณไปล่ะ เขากำลังหมายถึงว่า ทำไมคุณมาสายจัง ถ้าเขาจะชมว่าสวย มักจะใช้คำว่า "งาม" มากกว่า

มีเรื่องเล่าอีกเรื่องหนึ่ง เกี่ยวกับวัวแก่อยากกินหญ้าอ่อน ยืนคุยกับพ่อแม่ของหญิงสาวแล้วก็เปรยมาทางหญิงสาวที่นั่งทอผ้าอยู่ข้างๆ ว่า "นังหนูนี่เกิดมาสวยนะ" เธอสวนคำกลับมาว่า "บ่แม่นค่ะ หนูเกิดตอนแลง"

แลง น. เวลาเย็น

_____

*คำว่า "ส๎วาย" นี้ ภาษาลาวสะกดว่า "สวาย" จึงอ้างอิงตามนั้น แต่ใส่ยามักการเพื่อกำกับตัวควบกล้ำ ไม่ให้สับสนกับ "ปลาสวาย"

ความคิดเห็น

Thep กล่าวว่า
"สาวส่ำน้อย" คือ "สาวน้อย" หรือ "สาวแรกรุ่น" น่ะแหละครับ

เบื้องต้นสันนิษฐานว่า "ส่ำ" คือคำเดียวกับ "ส่ำ" ที่แปลว่า "เท่า(กับ)" เช่น "ส่ำเก่า" คือ "เท่าเดิม", "ส่ำนี้" คือ "เท่านี้" แต่ยังไม่ยืนยันนะครับ

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ภาษาใต้ : คำสรรพนามที่รู้จัก..

รวมมิตร: สัตว์จตุบาท

ภาษาใต้: หมัน...