ภาษาอีสาน: แซบ, นัว

เห็นโฆษณาบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปรสต้มยำกุ้งแล้วขำๆ งงๆ มีคนทำท่าเผ็ดซี้ดซ้าดแล้วก็บอกว่า "แซบร้อน แซบลึก" ฟังแล้วก็ อืม.. อารมณ์นั้นอาจจะพูดว่า "แซบ" ได้อยู่ แต่คำอื่นประเภท "เผ็ด" หรือ "ร้อน" อะไรพวกนี้จะตรงกับอารมณ์ที่จะสื่อกว่า ยิ่งเอาคำว่า "แซบ" มาเป็นสโลแกนเน้นความเผ็ด เอาดารามาออกท่าออกทางอย่างมั่นใจแล้ว ก็ให้นึกไปถึงโฆษณาเหล้านอกยี่ห้อหนึ่ง ดูเหมือนยี่ห้อเป็นรูปอัศวินขี่ม้า เอาฝรั่งที่ไหนไม่รู้มาทำท่ามั่นอกมั่นใจ แต่ตกม้าตายตรงกระแดะพูดไทยแปร่งๆ "ดายแหล่งอ๊อก" ฟังไม่รู้เรื่อง

ทำไมถึงบอกว่าการเอาคำว่า "แซบ" มาเป็นสโลแกนบะหมี่ต้มยำกุ้งเพื่อเน้นความเผ็ด มันดูขำๆ คล้ายๆ กัน? ก็เพราะคำว่า "แซบ" เป็นคำอีสานที่มีความหมายธรรมดามาก:

แซบ ว. อร่อย

กล่าวคือ อะไรที่อร่อย ใช้ "แซบ" ได้ทั้งนั้น ทั้งของหวานของคาว ไปกินไอติมบอกว่า "ไอติมแซบ" ก็ใช้ได้ ลองนึกภาพคนกินต้มยำกุ้งเผ็ดๆ แล้วสูดปากทำท่าได้อารมณ์ แล้วพูดแค่คำว่า "อร่อย" ดูสิ จะเข้าใจว่าผมหมายความว่ายังไง (คือมันก็ได้อารมณ์แบบหนึ่งเหมือนกันแหละ แต่อาจจะไม่ใช่ความเผ็ดที่กำลังจะสื่อ)

เรื่องนี้อาจฟังดูเป็นเรื่องเล็กๆ แต่พอได้ไปติดต่อกับคนลาว ปรากฏว่าคนลาวเขาค่อนข้างซีเรียส กับการใช้คำผิดความหมายของคนไทยกระจายออกทางสื่อแบบนั้นเหมือนกัน

แถมอีกคำที่ใกล้เคียงกัน

นัว ว. กลมกล่อม

คำว่า "นัว" มักใช้คู่กับคำว่า "แซบ" บ่อยๆ เช่น "หัวแซบหัวนัว" แปลว่า "หัวเราะได้อารมณ์มากๆ" หรือที่ภาษานักเขียนใช้ว่า "หัวเราะอร่อย" แต่คำว่า "นัว" ก็มีความหมายในตัวเองว่า "กลมกล่อม" เช่น "อ่อมไก่เจ้า นัวดีเนาะ" แปลว่า "แกงอ่อมไก่ของเธอนี่ รสชาติกลมกล่อมดีนะ"

ความคิดเห็น

bact' กล่าวว่า
มันอาจจะเป็นความหมายโดยนัยก็ได้ แบบว่าสองสเต็ป
ภาพโดยทั่วไปของอาหารอีสานก็คือรสจัด โดยเฉพาะรสเผ็ด
ถ้าคนอีสานบอกว่า อร่อย แสดงว่ามันก็น่าจะออกอร่อยแบบเผ็ดๆ รึเปล่า

ผมว่าไม่เห็นแปลกเลย
การยืมคำจากภาษานึง มาอีกภาษานึง
ไม่เห็นจำเป็นว่าความหมายจะยังต้องเหมือนภาษาเดิม

เว่อร์ <-- น่าจะมาจากภาษาอังกฤษว่า over? / over act? แต่เดี๋ยวนี้มันก็เอาไปใช้ได้กับหลายๆ สถานการณ์กว่านั้นแล้ว

ผับ <-- มาจากคำว่า public house ถ้าในอังกฤษ (ที่คิดว่าน่าจะเป็นต้นกำเนิดของรูปคำนี้ก่อนจะมาปรากฏในภาษาไทย) คือร้านขายอาหารขายเหล้าเบียร์ เปิดไฟแบบปกติ คือไม่ได้มืดๆ (แต่ก็ไม่ได้สว่างจ้า) เปิดแต่เช้า ขายกาแฟ/อาหารเช้าด้วย กินได้ทั้งวัน ส่วนใหญ่เปิดไม่เกินเที่ยงคืน .. ในเมืองไทย คือเป็นที่เปิดเพลงเต้นรำดังๆ ขายเหล้าเบียร์ ไฟสลัวๆ เด็กอายุต่ำกว่า 21 ห้ามเข้า


แบบนี้ พูดได้ว่า แซบ เป็นคำไทยภาคกลางไปแล้ว?
โดยมีความหมายว่า เผ็ด?
Thep กล่าวว่า
ก็มุมมองจากคนภาคกลางอาจจะไม่รู้สึกแปลกไง เพราะเป็นคำยืม เหมือนที่คนไทยเรียกขนม "อิ่วจาก้วย" ของคนจีนว่า "ปาท่องโก๋" ผมก็พอเข้าใจ ว่าถ้าพูดกับคนไทยต้อง "ปาท่องโก๋" แต่ถ้าพูดกับอากงอาม่า ก็ต้องเรียก "อิ่วจาก้วย" เหมือนเป็นคำคนละภาษา แต่ลองไปเรียก "ปาท่องโก๋" กับอากงสิ จะโดนตะเกียบคู่เคาะหัวให้ (เคยโดนมาแล้ว)

ที่เขียนเรื่อง "แซบ" นี่ ก็เขียนจากมุมมองของภาษาท้องถิ่นน่ะ ว่าถ้ามองจากทางนี้ไปแล้ว มันฟังดูขำๆ ซึ่งสำหรับคนอีสานอย่างผมที่มีความเชื่อมโยงทั้งสองทาง ก็พอจะรู้สึกว่ามันเป็นเรื่องเบาสมอง (อย่างที่เขียนมาวันก่อนๆ ที่เปรียบเทียบกับภาษาไทยกลางก็เพื่อความสนุกสนานในเชิงภาษา) แต่ถ้าพูดถึงมุมมองจากภาษาบริสุทธิ์อย่างลาว เขาก็จะมองเป็นเรื่องร้ายแรง

เรื่องความซีเรียสนี่ ก็มีหลายสเตปเหมือนกัน เหอๆ
ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า
โดยส่วนใหญ่แซบในภาษาอีสานก็จะใช้ในความหมายว่า "อร่อย" ตัวเองก็ใช้ในความหมายนั้น แต่เดี๋ยวนี้คำนี้ใช้ตามที่ต่างๆ ก็มาใช้ในความหมายว่า "เผ็ดร้อน หรือจัดจ้าน" เสียเยอะ ซึ่งคงเป็นเรื่องธรรมดา แบบที่ว่าไม่ใช่เจ้าของภาษา เลยไม่รู้ความหมายที่แท้จริง นานๆ เข้าก็อาจจะกลายความหมายไปเหมือนหลายๆ คำที่มีความหมายกลายไปตามความนิยมใช้ หรืออาจจะเป็นแบบว่าความหมายของคำนี้กว้างขึ้น ตัวเองลองเดาดูว่าทำไมคนส่วนใหญ่ จึงเข้าใจความหมายของคำว่า "แซบ" อย่างนั้น ก็คิดว่าอาจจะเป็นเพราะเขารู้ว่าคำว่า "แซบ" เป็นภาษาอีสาน และคงเห็นว่าภาษาอีสานส่วนใหญ่จะรสจัด เลยเหมาเอาว่า แซบ คือต้องรสจัดจ้าน หรือเผ็ดร้อนมัง
Thep กล่าวว่า
ตามความเห็นส่วนตัวของผม คิดว่าแหล่งใหญ่ที่ทำให้คนส่วนใหญ่เข้าใจเพี้ยน ก็คือโฆษณาบะหมี่ต้มยำกุ้งที่ว่านี้แหละ เพราะเขาเน้นคำนี้มากติดต่อกันเป็นเวลานาน และยังไม่พบแหล่งอื่นที่มีนัยสำคัญจากประสบการณ์ของตัวเอง
ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า
ก็ในความรู้สึกของคนภาคกลางที่คนอีสานบอกว่าอำหารนี้ อาหารนั้น แซบ พอเราลองไปกิมมันก็เผ็ดไปหมดทุกอย่าง นั่นเป็นเพราะอาหารอีสานที่ไม่เผ็ดเห็นจะไม่มีนี่นา ถ้ามีก็บอกหน่อย
Unknown กล่าวว่า
อยากพูดถึงคำว่า"นัว"ทางอีสานหมายความว่า ขุ่น-ข้น ถ้าเป็นอาหารประเภทแกงหรือที่มีน้ำขุ่นข้นก็จะว่าแกงน้ำนัว ส่วนจะอร่อยหรือไม่อีกเรื่องนึง เวลาเด็กๆสมัยก่อนเล่นน้ำในหนอง คนใหญ่ชอบพูดว่าเด็กเล่นน้ำนัวหมดหมายถึงขุ่นหมดนั่นเอง แต่เดี๋ยวนี้เอามาใช้เป็นเรื่องของความ"อร่อย"เป็นการสื่อความหมายที่ผิดนะ เคยได้ยินคำว่านัวเนียมั๊ยที่มาเดียวกันกับคำว่านัว ยังไงก็ฝากไว้พิจารณาด้วยครับ

Unknown กล่าวว่า
อยากพูดถึงคำว่า"นัว"ทางอีสานหมายความว่า ขุ่น-ข้น ถ้าเป็นอาหารประเภทแกงหรือที่มีน้ำขุ่นข้นก็จะว่าแกงน้ำนัว ส่วนจะอร่อยหรือไม่อีกเรื่องนึง เวลาเด็กๆสมัยก่อนเล่นน้ำในหนอง คนใหญ่ชอบพูดว่าเด็กเล่นน้ำนัวหมดหมายถึงขุ่นหมดนั่นเอง แต่เดี๋ยวนี้เอามาใช้เป็นเรื่องของความ"อร่อย"เป็นการสื่อความหมายที่ผิดนะ เคยได้ยินคำว่านัวเนียมั๊ยที่มาเดียวกันกับคำว่านัว ยังไงก็ฝากไว้พิจารณาด้วยครับ

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ภาษาใต้ : คำสรรพนามที่รู้จัก..

รวมมิตร: สัตว์จตุบาท

ภาษาอีสาน: สะออน, มัก, ฮัก