ภาษาอีสาน: โดน, พ้อ, เทื่อ, แหล้

ได้พูดถึงเพลงแล้ว เลยนึกถึงเพลงที่ร้องกันตามงานชุมนุมรอบกองไฟ:

โดนๆ พ้อกันเทื่อหนึ่ง ตกตะลึงสวยแท้งามแท้
แต่ก่อนทั้งดำทั้งแหล้ (ซ้ำ) เดี๋ยวนี้งามแท้ทั้งแหล้ทั้งดำ

ไล่ทีละคำ (อย่าลืมว่าการผันวรรณยุกต์ไม่เหมือนภาษากลาง)

โดน ว. นาน.

ไม่มีอะไรพิเศษ ใช้เหมือนคำว่า "นาน" ในภาษากลางทุกประการ เช่น "ท่าตั้งว่าโดน" แปลว่า "รออยู่ตั้งนาน"

พ้อ [ผ้อ] ก. พบ, เจอ.

ใช้ทั้งกับการพบปะกัน และการหาสิ่งของพบ

มีเกร็ดอย่างหนึ่งคือคำว่า "ปะ" [ป๋ะ] ในภาษาอีสาน แปลว่า "ทิ้ง" หรือ "หย่าร้าง" เช่น "ปะลูกไว้เฮือนผู้เดียว" หมายถึง "ทิ้งลูกไว้บ้านคนเดียว" สามีภรรยา "ปะกัน" ก็หมายถึงหย่ากัน แต่ในภาษากลาง "ปะ" กลายเป็นคำซ้อนของคำว่า "พบปะ" แล้วก็เลยทำให้ "ปะ" มีความหมายว่า "เจอ" (แทนที่จะเป็น พบแล้วจาก ผ่านมาแล้วก็ผ่านไป) ซึ่งอาจเป็นแค่ความบังเอิญก็ได้ เพราะ "ปะ" มีอีกความหมายหนึ่ง ว่าเอามาเจอกัน เช่น "ปะผ้า" อยู่แล้ว

เทื่อ [เทือ (สามัญสูง), บางท้องถิ่นออกเสียงเป็น เทีย (สามัญสูง)] น. ครั้ง, คราว, ที.

ท้องถิ่นอีสานบางถิ่น เช่น ขอนแก่น จะออกเสียงสระเอือเป็นสระเอีย เช่น เกือ (เกลือ) ออกเสียงว่า "เกีย" คำว่า "เทื่อ" ก็ออกเสียงว่า "เทีย" เหมือนกัน คำว่า "เทื่อ" ใช้เหมือนคำว่า "ครั้ง" ในภาษากลาง เช่น "ตบมือสามเทื่อ", เหมือนคำว่า "คราว" เช่น "เทื่อหน้าอย่าเฮ็ด" คือ "คราวหน้าอย่าทำ"

"นิสสันเทียหน้า" หมายถึง "เทียนี้โตโยต้าไปก่อน"? ;-D

แหล้ [แหล่] ว. ม่วง, คล้ำ.

สีม่วงๆ คล้ำๆ ช้ำเลือดช้ำหนอง เรียกว่า "สีแหล้" [ผันวรรณยุกต์ว่า "แหล่"] อย่างเช่น สีทางด้านขอบบนของรุ้งปฐมภูมิ แบบนั้นก็เรียก "สีแหล้" เหมือนกัน

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ภาษาใต้ : คำสรรพนามที่รู้จัก..

รวมมิตร: สัตว์จตุบาท

ภาษาใต้: หมัน...