ภาษาอีสาน: งาย กับ ส๎วาย

คั่นรายการรวมมิตร ให้ webmaster ชาวถิ่นได้พักหายใจหน่อยดีกว่า เผอิญว่าไปได้ข้อมูลใหม่มาจากคุ้มวัฒนธรรมในงานเทศกาลไหม เกี่ยวกับคำว่า "งาย" กับ "ส๎วาย" [สวย] โดยในแผ่นพับเกี่ยวกับ "พาแลง" อธิบายว่า..

"คำว่า 'แลง' หมายถึง เวลาเย็นจนถึงหัวค่ำ ถ้าเวลาก่อนเที่ยง ภาษาถิ่นจะเรียกว่า 'งาย' หรือ 'เวลางาย' ถ้าเป็นเวลาเที่ยงถึงก่อนเย็นหรือค่ำ เรียกว่า 'สวย' หรือ 'เวลาสวย' เวลารับประทานอาหารตั้งแต่เช้าถึงก่อนเที่ยง เรียกว่า 'กินข้าวงาย' ตั้งแต่เที่ยงไปจนถึงก่อนค่ำ เรียกว่า 'กินข้าวสวย' ถ้าตั้งแต่ค่ำหรือเย็นไปจนถึงกลางคืน เรียกว่า 'กินข้าวแลง'"

ซึ่งเท่ากับว่า 'เวลาสวย' หมายถึงตอนบ่าย ไม่ใช่ตอนสาย แต่เวลาสายจะเรียก 'เวลางาย' แต่เมื่อสอบถามคนอีสานที่รู้จัก ไม่มีใครเข้าใจอย่างนี้เลย ต่างเข้าใจว่า 'เวลาสวย' หมายถึงตอนสายทั้งนั้น แต่ 'กินข้าวงาย' หมายถึงมื้อเช้า และ 'กินข้าวสวย' หมายถึงมื้อเที่ยง อันนี้ตรงกัน ส่วน 'กินข้าวแลง' นั้น หมายถึงมื้อเย็นเหมือนกันหมด ไม่มีปัญหา

คุณครูวันชัย (คนเดิม) อธิบายว่า 'ตอนเซ้า' หมายถึงเวลาเช้าตรู่ 'ตอนงาย' หมายถึงเวลากินข้าวเช้า คือราวๆ 6-8 โมงเช้า ถ้าเลยจากนั้นเรียกว่า 'ตอนสวย' ไปจนถึงเวลากินข้าวเที่ยง (รวมมื้อเที่ยงด้วย) เวลาหลังข้าวเที่ยง เรียกว่า 'ตอนบ่าย' เวลากินข้าวเย็นเรียกว่า 'ตอนแลง' หลังจากนั้นไปจนถึงเที่ยงคืน เรียกว่า 'ตอนค่ำ' และเริ่มเรียก 'ตอนเดิก' (ตอนดึก) ตั้งแต่หลังเที่ยงคืนเป็นต้นไป ซึ่งควรเลิกตำข้าว แล้วเข้านอนได้แล้ว

สำหรับผม ใช้คำว่า 'สวย' กับเวลาสายตลอด เป็นไปได้ว่า ภาษาเก่าอาจใช้กับตอนบ่าย แต่ปัจจุบันมีการผสมกลมกลืนกับภาษากลางไปแล้ว?

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ภาษาใต้ : คำสรรพนามที่รู้จัก..

รวมมิตร: สัตว์จตุบาท

ภาษาใต้: หมัน...