ภาษากลาง: ประทัด

มีคนจีนที่ไหน มีประทัดที่นั่น ความจริงแล้ว ดินปืนที่ใช้ทำประทัดนั้น ถือเป็นหนึ่งใน "สี่ประดิษฐ์" ชิ้นเอกของจีนโบราณที่มีอิทธิพลต่ออารยธรรมของโลก (สี่ประดิษฐ์ ได้แก่ เข็มทิศ กระดาษ ดินปืน และเทคนิคการพิมพ์) และไม่เป็นที่สงสัยว่า ประทัดนั้น ประดิษฐ์ขึ้นครั้งแรกโดยชาวจีน แต่คำว่า "ประทัด" ในภาษาไทยนั้น ไม่ได้มาจากภาษาจีน พระยาอนุมานราชธนได้อธิบายไว้ว่า "ประทัด" มาจากภาษามลายูว่า Petas [เปอะทัส] ซึ่งแปลว่า น้ำที่ปุดเดือดเป็นฟองขึ้นมา และแปลว่าประทัดด้วย แต่ในพจนานุกรมเล่มเก่าไม่มีคำว่า Petas มีแต่ Petus หรือ Pettus แปลว่า สายฟ้า คาดว่า Petas น่าจะเป็นคำที่เกิดใหม่ โดยวิวัฒน์มาจากคำเก่าที่แปลว่าสายฟ้า ส่วนข้อสันนิษฐานอีกข้อหนึ่งที่ว่า ประทัด น่าจะมาจากภาษาฝรั่งเศสว่า Petard ที่แปลว่า ปืนใหญ่ นั้น ไม่น่าเป็นไปได้ เพราะความหมายไม่ตรงเท่า Petas ในภาษามลายู และประทัดก็แพร่หลายในชาวเอเชียมากกว่ายุโรป

ขุนศิลปกิจจพิสัณห์ หมายเหตุไว้ว่า คำว่า petas นี้ มลายูรับมาจากฮินดูสตานีอีกต่อหนึ่ง

ส่วนในภาษาจีน ต้นตำรับประทัดนั้น เรียกประทัดว่า 炮竹 [แต้จิ๋ว: เผ่าเต็ก, จีนกลาง: เผ่าจู๊] แปลว่า "ไผ่ระเบิด" แต่ภาษาชาวบ้านจะได้ยินคำว่า "ผ้งเผีย" มากกว่า (ยังหาตัวเขียนไม่ได้)

ตำนานกำเนิดประทัดของจีน เล่ากันว่า ในสมัยโบราณมีตัวประหลาดบนภูเขา เรียกว่า ซานเซียว รูปร่างคล้ายคน มีขาเดียว สูงไม่ถึงเชียะ เคลื่อนไหวคล่องแคล่ว ไม่กลัวคน เล่ากันว่าเมื่อสิ้นปีเก่าขึ้นปีใหม่ พวกซานเซียวจะลงมาขโมยของกินในหมู่บ้าน ชาวบ้านต้องช่วยกันขับไล่ แต่พอจับตัวได้ก็จะเจ็บป่วย เลยไม่มีใครกล้าสู้กับซานเซียว เผอิญวันหนึ่ง ชาวบ้านเอาปล้องไม้ไผ่มาทำฟืนหุงหาอาหาร แล้วซานเซียวก็มา ชาวบ้านไม่รู้จะทำอย่างไร ก็พอดีไม้ไผ่ในกองไฟเกิดระเบิดขึ้น ทำให้ซานเซียวชะงัก ไม่กล้าเข้าใกล้ ชาวบ้านรู้ว่าซานเซียวกลัวเสียงไม้ไผ่แตก ก็เลยเตรียมไม้ไผ่ไว้จุดไล่ซานเซียว หลังจากนั้น ในเทศกาลขึ้นปีใหม่ ชาวบ้านจะจุดไผ่ระเบิดไล่ซานเซียวตอนเช้าตรู่ เป็นประเพณีสืบเนื่องกันมา

คำว่า "ประทัด" ภาษาท้องถิ่นเรียกเหมือนกันไหมหนอ? คิดว่าน่าจะมีคำพื้นถิ่นที่ไม่ใช่ภาษามลายู

  • เหนือ:
  • อีสาน: กะโพก
  • ใต้: ลูกทัด

อ้างอิง:

  • เสาวลักษณ์ กีชานนท์. "ประทัด." อภิธานศัพท์ คำไทยที่มีต้นเค้าจากภาษาต่างประเทศ. กรมศิลปากร. พ.ศ. ๒๕๔๕.
  • ขุนศิลปกิจจพิสัณห์. "วิชานิรุกติศาสตร์ เรื่องภาษามลายู." คำบรรยาย ภาษาไทยขั้นสูง ของ ชุมนุมภาษาไทย ของคุรุสภา. คุรุสภา. พ.ศ. ๒๕๐๙.
  • นิตยา (พลพิพัฒน์พงศ์) ชวี. วัฒนธรรมจีน. ชมรมเด็ก. พ.ศ. ๒๕๔๒.

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ภาษาใต้ : คำสรรพนามที่รู้จัก..

รวมมิตร: สัตว์จตุบาท

ภาษาใต้: หมัน...