ภาษากลาง: บพิตร, บพิธ

เจอคำคู่นี้ในหนังสือ "ภาษาพาเพลิน เล่ม ๑" (ชื่อคล้าย blog นี้เลย) ของ ช่วย พูลเพิ่ม เข้า ก็ยอมรับเหมือนกันว่าตัวเองก็สับสน อย่างชื่อวัด ก็มีวัดราชบพิธ วัดเบญจมบพิตร วัดบพิธพิมุข เวลาเขียนคำที่พระสงฆ์ใช้เรียกพระมหากษัตริย์ว่า "มหาบพิตร" ก็อาจสับสนเหมือนกัน

พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒:

บพิตร [บอพิด] (แบบ) น. พระองค์ท่าน เช่น บำรุงฤทัยตระโบม บพิตรผู้อย่าดูเบา, โดยมากเป็นคำที่พระสงฆ์ใช้แก่เจ้านาย เช่น บรมวงศบพิตร.

บพิธ [บอพิด] ก. แต่ง, สร้าง. (ป. ป + วิ + ธา).

กล่าวคือ "บพิตร" พระสงฆ์ใช้เรียกเจ้านาย แต่ "บพิธ" นั้น ไม่เกี่ยว แปลว่า แต่ง หรือ สร้าง แค่นั้นเอง

ตัวอย่างเช่น วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม เป็นวัดที่ ร.๕ ทรงสร้างขึ้น ใช้ผู้อำนวยการสร้างถึง ๓ คน จึงเสร็จการ ทรงนำเอาหลักโบราณมาใช้ คือสร้างพระมหาเจดีย์เป็นหลัก ห้อมล้อมด้วยระเบียง มีวิหารทิศสองวิหาร ทางทิศเหนือสร้างเป็นอุโบสถ ทางทิศใต้เป็นวิหาร ตกแต่งภายในแบบตะวันตก แต่ด้านนอกเป็นแบบไทย ยอดพระเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ความหมายชื่อวัด "ราชบพิธ" แปลว่า "กษัตริย์สร้าง"

วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม แต่เดิมเป็นวัดโบราณ ไม่ปรากฏผู้สร้าง เรียกว่า วัดแหลม หรือวัดไทรทอง ถึงรัชกาลที่ ๓ จึงมีพระเจ้าบรมวงศ์เธอ ๕ พระองค์ทรงร่วมปฏิสังขรณ์ ร.๔ จึงพระราชทานนามว่า "วัดเบญจบพิตร" แปลว่า วัดของเจ้านาย ๕ พระองค์ ต่อมา ร.๕ ต้องเอาที่วัดดุสิตซึ่งเป็นวัดร้างสร้างพระราชวังดุสิต กับใช้เนื้อที่วัดร้างอีกวัดหนึ่งสร้างถนน จึงทรงเลือกเอาวัดเบญจบพิตร สถาปนาขึ้นใหม่แทนวัดทั้งสอง แล้วพระราชทานนามใหม่ว่า "วัดเบญจมบพิตร" แปลว่า วัดที่พระเจ้าแผ่นดินองค์ที่ ๕ ทรงสร้าง

วัดบพิธพิมุข เดิมชื่อวัดตีนเลน หรือวัดเชิงเลน เป็นวัดโบราณ กรมพระราชวังหลังทรงสถาปนาใหม่ในรัชกาลที่ ๒ แล้วพระราชทานนามว่า "วัดบพิธพิมุข"

อ้างอิง:

  • ช่วย พูลเพิ่ม. ภาษาพาเพลิน เล่ม ๑. โอเดียนสโตร์. ๒๕๓๒.

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ภาษาใต้ : คำสรรพนามที่รู้จัก..

รวมมิตร: สัตว์จตุบาท

ภาษาใต้: หมัน...