ภาษาอีสาน: เมือบ้าน

เทศกาลปีใหม่ การจราจรสายที่ถือว่าคับคั่งมากที่สุดเห็นจะเป็นสายอีสาน เพราะชาวอีสานที่กระจายกันไปทำงานในเมืองหลวง และตามภูมิภาคต่างๆ มากมาย พากัน "เมือบ้าน"

เมือ ก. กลับคืนสู่.

คำว่า "เมือ" บางท้องถิ่น เช่น ขอนแก่น จะออกเสียงเป็น "เมีย" เพราะไม่มีเสียงสระเอือ แต่ถ้าไปตามตลาด จะเห็นพูดทั้ง "เมือ" และ "เมีย" ปนกัน เพราะพ่อค้าแม่ขายเอง ก็หอบของมาขายจากท้องถิ่นอื่นเหมือนกัน

ใครเคยได้อ่าน ลิลิตพระลอ จะเห็นศัพท์พื้นถิ่นไทยเหนือ-อีสานอยู่ประปราย ในบรรดานั้น มีคำว่า "เมือ" ซึ่งแปลว่า "กลับคืนสู่" นี้อยู่ด้วย (ขออภัยที่หนังสือไม่ได้อยู่กับตัว ไม่สามารถยกมาเป็นตัวอย่างได้) ทั้งๆ ที่คำเมืองล้านนาจะใช้คำว่า "ปิ๊ก" ตรงนี้ยังไม่ทราบที่มาที่ไปเหมือนกัน

สำหรับคำว่า "บ้าน" นี้ มีเกร็ดที่น่าสังเกตว่า ภาษาอีสานจะเรียก "บ้าน" กับ "เฮือน" (เรือน) แยกกันชัดเจน โดย "บ้าน" มีความหมายเหมือน home และ "เฮือน" เหมือน house ของฝรั่ง ดังนั้น คุณจะ "เมือบ้าน" และ "ปลูกเฮือน" แต่จะไม่ "เมือเฮือน" (ความจริงก็พูดได้เหมือนกัน แต่ความหมายดูแปลกๆ คือเจาะจงสถานที่ไปหน่อย) แต่ในบริบทที่พูดแบบเจือภาษากรุงเทพฯ ก็อาจจะใช้ "บ้าน" แทนไปหมดทั้งบ้านทั้งเฮือนบ้าง ตามความเคยชิน

นอกจากนี้ คำว่า "เรือน" ที่ใช้ใน "เรือนกาย" หรือ "เรือนผม" ในภาษากลางนั้น ภาษาอีสานก็ใช้เหมือนกันทุกประการ ดังจะมีหลักลักษณะหญิงที่ดีของอีสาน ว่าควรมี "เฮือนสามน้ำสี่" เฮือนสาม ได้แก่ เฮือนผม เฮือนไฟ (ครัว) และเฮือนนอน เฮือนทั้งสาม ต้องรู้จักรักษาให้สะอาดตลอดเวลา ส่วนน้ำสี่ ได้แก่ น้ำกิน น้ำใช้ น้ำเต้าปูน (สำหรับกินหมากในสมัยก่อน) และน้ำใจ น้ำเหล่านี้ต้องให้สะอาดและให้เต็มบริบูรณ์อยู่เสมอ

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ภาษาใต้ : คำสรรพนามที่รู้จัก..

รวมมิตร: สัตว์จตุบาท

ภาษาใต้: หมัน...