ภาษาอีสาน: ย้อน, ขะหยอน

ย้อน [ญ่อน] สัน. ด้วยเหตุที่, อันเนื่องมาจาก.

ดูเหมือนภาษาอีสานจะไม่มีคำว่า "เพราะ" ไม่ว่าจะในความหมายว่า "เสนาะหู" หรือ "ด้วยเหตุที่..." ความหมายว่า "ด้วยเหตุที่" ซึ่งเป็นสันธานเชื่อมความนั้น ภาษาอีสานใช้คำว่า "ย้อน" เช่น ในหนังเรื่อง ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ จะมีประโยคที่หลวงพ่อพูดถึงนักประดาน้ำคนหนึ่ง ที่จมน้ำตายไป ว่า "มันตายย้อนเหล้า" แปลว่า "มันตายเพราะเหล้า" นั่นเอง ถ้าใช้ "ย้อนว่า.." แล้วตามด้วยอนุประโยค ก็เหมือน "เพราะว่า.." ในภาษากลางนั่นแล

ที่ใกล้เคียงกับ "ย้อน" ก็มีอีกคำ คือ "ขะหยอน"

ขะหยอน [ขะหญอน] สัน. มิน่า(ล่ะ).

ใช้เวลาที่รู้สาเหตุอะไรบางอย่าง ตัวอย่างเช่น "ขะหยอนเลาบ่ตื่นอิหยัง เลาฮู้แต่ดนแล้ว" (มิน่า แกไม่ตื่นเต้นตกใจอะไร แกรู้ตั้งนานแล้วนี่เอง) บางทีก็ตามด้วย "ล่ะ" เหมือน "มิน่าล่ะ" ในภาษากลางก็ได้

ว่าแล้วก็เลยย้อนมาพูดเรื่องหน่วยเสียง ย และ ญ สักนิด อย่างที่เคยเขียนถึงไปแล้ว ว่าเสียง ญ นั้น ตามหลักพยัญชนะวรรคแล้ว ญ เป็นพยัญชนะนาสิก คือมีเสียงออกจมูกเหมือนพยัญชนะนาสิกตัวอื่นๆ คือ ง ณ น ม (ทดสอบด้วยการอุดจมูกแล้วออกเสียง จะมีลมดัน) แต่เสียงนาสิกของ ญ ในภาษากลางได้หายไป แต่ในภาษาอีสานและภาษาลาว ยังคงรักษาไว้ พยัญชนะลาวจะมี ย ยุง (ຍ ຍຸງ) กับ ย ยา (ຢ ຢາ) ซึ่งเสียง ย ยุง จะมีเสียงนาสิก อยู่ในตำแหน่งเดียวกับ ญ หญิง ของไทย ส่วน ย ยา นั้น ไม่มีเสียงนาสิก อยู่ในตำแหน่ง ย ยักษ์ ของไทย และเสียง ย/ญ ส่วนใหญ่ของลาว จะเขียนด้วย ย ยุง (ซึ่งมีรูปร่างเหมือน ย ยักษ์ ของไทย แต่อยู่ในตำแหน่ง ญ หญิง) และออกเสียงนาสิก คำที่เขียนด้วย ย ยา มักเป็นคำ อย ควบ ของไทย เช่น อย่า อยู่ อย่าง อยาก และผันวรรณยุกต์เหมือนอักษรกลาง แต่ทั้งนี้ ก็มีคำที่ไม่ใช่ อย ควบ ของไทยที่เขียนด้วย ย ยา ด้วย เช่น คำว่า "ยา" เอง และมีบางคำในภาษาอีสานที่ผันวรรณยุกต์แบบ ย ยา เช่น ยาง [เอก] ย่าง [สามัญสูง] (เดิน) แต่ด้วยความที่ไม่เคยได้เรียนหลักภาษาอีสาน จึงไม่กล้ายืนยัน ว่าคำเหล่านี้สะกดด้วย ย ยา หรือไม่ (และไม่แน่ใจเรื่องเสียงนาสิกในบางคำเช่น "ยาง" ด้วย) ตรงนี้ออกจะเป็นจุดโหว่ของการไม่ได้เรียนภาษาท้องถิ่นในหลักสูตร (หรือแม้แต่การห้ามพูดภาษาถิ่นในโรงเรียน)

ความคิดเห็น

CrazyHOrse กล่าวว่า
ลักษณะคำที่มีเสียงควบกล้ำอย่าง เพราะ ไม่ใช่ลักษณะของภาษาตระกูลไทครับ เป็นลักษณะเด่นของภาษาตระกูลมอญ-เขมร ลาวและไทยอีสานมีการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมทางภาษากับเขมรน้อยกว่าไทยกลาง คำพวกนี้จึงไม่ค่อยจะมีใช้ครับ
Thep กล่าวว่า
เป็นไปได้ครับ แต่ที่บอกว่าวัฒนธรรมอีสานไม่ค่อยมีการแลกเปลี่ยนกับเขมรนี่ อาจจะไม่จริงครับ เพราะขอมเคยมีอิทธิพลในดินแดนอีสานมาก่อนล้านช้างและอยุธยา ชื่อสถานที่บางแห่งยังเป็นภาษาเขมรอยู่เลย เช่น ภูเม็ง ที่เป็นที่มาของชื่ออำเภอมัญจาคีรี จังหวัดขอนแก่น ก็เป็นคำเขมร คำว่า "เม็ง" แปลว่า "เตียง" ร.๕ จึงพระราชทานนามเมืองที่ตั้งใหม่ว่า "มัญจาคีรี" เพราะ "มัญจา" แปลว่า "เตียง" นอกจากนี้ ปราสาทและจารึกของเขมรก็มีให้เห็นทั่วไปในภาคอีสาน

แต่เป็นความจริงครับ ที่ชื่อพวกนี้ไม่ได้ใช้ในภาษาพูดกันเท่าไร ถ้าจะมีหลงเหลืออยู่ก็คงเป็นเครื่องดนตรี เช่น กันตรึม
Unknown กล่าวว่า
ขะหยอนไม่ได้เเปลว่า มิน่าล่ะ เสมอไปเพราะคำว่ามิน่าล่ะ ภาษาลาวจะใช้คำว่า สัมพอ ก็ได้ "สัมพอมันบ่เป็นหยัง"มิน่ามันไม่เป็นอะไร คำขะหยอนจึงขึ้นอยู่กับบริบทนั้นๆ "ขะหยอนมันบ่เป็นหยัง"โชคดีมันไม่เป็นอะไร "ขะหยอนมันบ่เหี่ย" โชคดีมันไม่หก "ขะหยอนเเต่มันบ่กิน" โชคดีที่มันไม่กิน การใช้คำว่าขะหยอนจึงขึ้นอยู่กับบริบทที่สนทนา

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ภาษาใต้ : คำสรรพนามที่รู้จัก..

รวมมิตร: สัตว์จตุบาท

ภาษาใต้: หมัน...